คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๘๐/๒๕๖๓
จำเลยที่ ๑
ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑
ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดกไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท
และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑๔ และมาตรา
๑๗๒๒ จำเลยที่ ๑ มีอำนาจที่จะกระทำได้ นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ ๑
ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แก่จำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัว ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๐
แม้จะทำให้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นทายาทโดยธรรมได้รับความเสียหายไม่ได้รับมรดกที่ดินพิพาทก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งสี่
และจำเลยที่ ๑
จะว่ากล่าวกันต่างหาก
ภายหลังจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัวแล้ว จำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ ขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓
เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖ บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลกระทำการโดยสุจริต
ประกอบกับโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ กระทำการโดยไม่สุจริต
แต่กลับบรรยายฟ้องว่าแม้จำเลยที่ ๓ รับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต
ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
เท่ากับโจทก์ทั้งสี่ยอมรับ ว่าจำเลยที่ ๓ รับซื้อฝากโดยสุจริต คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลย ที่ ๓
รับซื้อฝากโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นยินยอมให้โจทก์ทั้งสี่นำสืบพยานหลักฐานกล่าวอ้างว่าจำเลย ที่ ๓
รับซื้อฝากโดยไม่สุจริตซึ่งเป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกเหนือไปจากคำฟ้องคำให้การอันเป็นการนำสืบไม่เกี่ยวแก่ประเด็นข้อพิพาท
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๖ วรรคสอง
ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา ๘๗ (๑)
โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของผู้ตาย
เป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาท
ไม่อาจยกสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ ๓
ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง และมาตรา ๑๓๐๐
โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ เมื่อจำเลยที่ ๓
รับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสุจริตแล้วจำเลยที่ ๒ ไม่ไถ่ถอนการขายฝากกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทย่อมตกแก่จำเลยที่ ๓ โดยเด็ดขาด จำเลยที่ ๓
มีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๔ ได้ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ได้เช่นเดียวกัน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๕๐ การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ
อสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น
ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้
และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต
และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว
มาตรา ๑๓๐๐ ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้
ท่านว่าบุคคลนั้นอาจ เรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน
ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด
ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้
0 Comments
แสดงความคิดเห็น