คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๑/๒๕๖๓
พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๗ เป็นกฎหมายที่ประสงค์ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้วางมัดจำ ศาลสามารถนำมาปรับใช้กับสัญญาทั่ว
ๆ ไปที่มีการให้สิ่งใดเป็นมัดจำได้ มิได้จำกัดเฉพาะสัญญาที่เข้าเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓ เท่านั้น
การปรับลดมัดจำต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของมาตรา
๓๗๗ ที่ต้องการให้มัดจำเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา รวมทั้งต้องคำนึงถึงว่าฝ่ายที่วางมัดจำมีส่วนผิดหรือไม่ด้วย
ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและเลิกสัญญากันหลายครั้ง
ซึ่งสาเหตุที่ต้องเลิกสัญญาและทำสัญญากันใหม่นั้น เพราะโจทก์ไม่มีเงินพอที่จะชำระราคาที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่จำเลย
แสดงว่าโจทก์เองเป็นฝ่ายผิดสัญญาตลอดมา การที่จำเลยยอมให้โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่แทนฉบับเดิมและยอมให้โจทก์นำมัดจำตามสัญญาครั้งก่อน
ๆ ที่เลิกกันแล้วมารวมเป็นมัดจำตามสัญญาที่ทำกันใหม่ทั้ง ๆ ที่จำเลยสามารถรับมัดจำตามสัญญาครั้งก่อนได้เช่นนี้
นับเป็นการให้โอกาสและเป็นคุณแก่โจทก์อย่างมากแล้ว แต่โจทก์กลับไม่นำพาที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้กับจำเลย
กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะลดมัดจำที่ถึงแม้จะสูงเกินส่วนลง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๗๗
เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว
อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็น ประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย
มาตรา ๓๗๘ มัดจำนั้น
ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) ให้ส่งคืน
หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้
(๒) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้
หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ
หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะ ความผิดของฝ่ายนั้น
(๓) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น