คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๔๐/๒๕๖๓ 

               จำเลยทำสัญญาเช่าพื้นที่จอดรถในโรงพยาบาลซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุเพื่อบริหารจัดการและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าบริการจอดรถไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลค้ำจุนหรือตัดแต่งต้นไม้ในลานจอดรถให้มีสภาพมั่นคงเพียงพอที่จะต้านทานพายุที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลซึ่งหาได้เป็นเหตุสุดวิสัยไม่ จำเลยในฐานะผู้ครองต้นไม้ที่หักล้มลงมาทับรถยนต์ที่ ณ. ผู้เอาประกันภัยนำไปจอดไว้ได้รับความเสียหาย จึงเป็นผู้กระทำละเมิดจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๔ แก่ ณ. ผู้เอาประกันภัย เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แทนผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันซึ่งมีต่อจำเลยตามจำนวนเงินที่ชดใช้ไปนั้น

 

               ตามฎีกานี้ พื้นที่เช่าลานจอดรถแบโล่ง ๒ ลาน มีต้นไม้ใหญ่ปลูกอยู่โดยรอบ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การยึดถือครอบครองพื้นที่เช่าเป็นลานจอดรถ ย่อมรวมถึงไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้ด้วย ทั้งต้นไม้ยังเป็นร่มเงาและช่วยลดความร้อนในลานจอดรถ นับว่าเป็นประโยชน์แก่การให้บริการที่จอดรถของจำเลย”

 

เพิ่มเติม

               ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

               ฎีกาที่ ๔๑๒๘/๒๕๒๘ แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๔ จะบัญญัติให้ผู้ครองหรือเจ้าของต้นไม้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตามแต่มูลละเมิดในเรื่องนี้เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นมะพร้าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ของจำเลยโจทก์ก็มีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า เหตุที่ต้นมะพร้าวล้มจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เกิดจากความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนของจำเลยหาใช่ว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องพิสูจน์ดังกล่าวไม่

 

ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์

               มาตรา ๔๓๔ ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

               บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

               ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้