คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๓๓/๒๕๖๒

               โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การว่าสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอมด้วยเหตุว่าจำเลยมิได้กู้เงินและรับเงิน จากโจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ข้อความในสัญญากู้เงินเป็นข้อความเท็จ จำเลยมิได้ทราบหรือมิได้รู้เห็นยินยอมหรือให้ความยินยอมแต่อย่างใด คำให้การของจำเลยดังว่านี้แสดงโดยชัดเจนมีสาระสำคัญครบถ้วนถูกต้องตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๒๖ ว่าจำเลยไม่ได้กู้เงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ตามที่ระบุในสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องพร้อมทั้งมีเหตุแห่งการปฏิเสธด้วยว่าสัญญากู้เงินเป็นสัญญาปลอม ด้วยเหตุว่าข้อความในสัญญาเป็นความเท็จซึ่งจำเลยมิได้ ทราบหรือมิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอมแต่อย่างใด คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้อง และคำให้การว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งโจทก์มีภาระการพิสูจน์ ให้ได้ความว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องไม่ใช่เอกสารปลอมและจำเลยก็ชอบที่จะนำพยานเข้าสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ตามที่ให้การต่อสู้ได้

               จำเลยนำสืบว่าความจริงจำเลยกู้เงินจากโจทก์ ๑๕,๐๐๐ บาท เมื่อชำระหนี้ครบแล้วทวงถามสัญญากู้เงินคืนจากโจทก์ แต่โจทก์ไม่คืนให้นั้น แม้เรื่องนี้จำเลยจะไม่ได้ให้การไว้ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาว่าที่โจทก์กรอกข้อความลงในสัญญากู้เงินว่าจำเลยกู้เงินไป ๒๐๐,๐๐๐ บาท ความจริงจำเลยกู้เงินไปจากโจทก์เท่าใด โจทก์กรอกจำนวนเงินที่กู้ในสัญญาสูงเกินกว่าความจริงโดยจำเลยไม่รู้เห็นหรือยินยอม เป็นการนำสืบยืนยันตามที่ให้การว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาทไปจากโจทก์ หาใช่เป็นการนำสืบนอกคำให้การแต่อย่างใดไม่

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๕๑๗๘/๒๕๕๖ จำเลยให้การรับว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จริง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่าจำเลยได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์เพียง ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่หนังสือสัญญาจำนองระบุเงินกู้ยืมและจดทะเบียนจำนองเป็นเงิน ๒,๓๕๐,๐๐๐ บาท เนื่องจากโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด นิติกรรมการกู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญาจำนองจึงตกเป็นโมฆะ ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๘๔ (เดิม)

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา ๘๔/๑ คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว