คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๘๓/๒๕๖๒ 

               โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยร่วมกับพวกรุมทำร้ายผู้เสียหายโดยกดศีรษะแล้วเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไป สอดคล้องกับที่ผู้เสียหายให้การไว้ในชั้นสอบสวนตั้งแต่วัน เกิดเหตุตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.๘ ว่า ฐ. ขอยืมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายเพื่อโทรศัพท์หาเพื่อน สักพักจำเลยกับพวกอีก ๑ คน ขับรถจักรยานยนต์ตามมาที่เกิดเหตุ แต่พวกของจำเลยแยกกลับไปก่อน จากนั้น ฐ. กับพวกยืนล้อมผู้เสียหายและร่วมกันกระชากเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายโดย ฐ. กระชาก โทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนพวกอีก ๑ คน กระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองของผู้เสียหายไป หลังเกิดเหตุจำเลยกับพวกพากันหลบหนีทันที แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้ให้การถึงรายละเอียดการกระทำของจำเลย แต่ก็ได้ความจากบันทึกคำให้การของ ฐ. และ ว. เอกสารหมาย จ.๑๕ และ จ.๑๖ ว่า  ฐ. และ ว. ไม่กล้าเริ่มลงมือกระทำผิดก่อน เมื่อ ฐ. ถามว่าใครจะเปิดหรือลงมือก่อน จำเลยตอบว่ากูเอง จากนั้นจำเลย ฐ. กับ ว. เดินเข้าล้อมผู้เสียหาย แล้วจำเลยใช้มือดึงกระชากผมของผู้เสียหายและกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองของผู้เสียหาย ฐ. กับพวกร่วมกันจับศีรษะผู้เสียหายก้มลงและแย่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไป หลังเกิดเหตุจำเลยกับพวกขับรถจักรยานยนต์พากันหลบหนีไป คำให้การดังกล่าวยังมีรายละเอียดถึงเหตุการณ์การกระทำความผิดตั้งแต่สาเหตุการวางแผนกระทำความผิด ขณะกระทำความผิด จนกระทั่งหลังกระทำความผิดแล้วตกลงแบ่งปันทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดด้วย แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของ ฐ. และ ว. มีลักษณะเป็นคำบอกเล่าและคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่กฎหมายมิได้บัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานบอกเล่าและคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเสียทีเดียว หากพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น เชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานบอกเล่าและคำซัดทอดนั้นเพียงแต่การวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่าหรือพยานซัดทอด ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา ๒๒๖/๓ วรรคสอง (๑) และมาตรา ๒๒๗/๑ วรรคหนึ่ง เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของ ฐ. และ ว. เอกสารหมาย จ.๑๕ และ จ.๑๖ แล้ว มีรายละเอียดการกระทำความผิดทั้งของจำเลย ฐ. และ ว. จึงมิใช่คำซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิด หากแต่เป็นการให้การถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้ง ฐ. และ ว. ให้การในวันที่ถูกจับกุมภายหลังเกิดเหตุไม่นานและ ว. ยังเป็นเพื่อนของจำเลยอีกด้วย เชื่อว่าให้การไปตามความจริงด้วยความสมัครใจโดยไม่มีเวลาและโอกาสแต่งเรื่องเท็จขึ้น คำให้การในชั้นสอบสวนของ ฐ. และ ว. จึงมีเหตุผลอันหนักแน่นที่จะรับฟังประกอบคำเบิกความ และคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยกับพวกเข้าล้อมและรุมทำร้าย แล้วกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองและแย่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ หลังจากนั้นจำเลยกับพวกขับรถจักรยานยนต์ หลบหนีไป พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๑๒๒๗/๒๕๕๙ คำซัดทอดของ ป. มิใช่คำซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดเพราะมีรายละเอียดของการกระทำความผิดทั้งของ ป.และของจำเลยและยังนำไปสู่การที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่จำเลยใช้ให้ ป. นำไปส่งที่อำเภอสังขละบุรีคืนไว้ นับว่าเป็นคำซัดทอดที่มีเหตุผล เมื่อนำคำเบิกความของร้อยตำรวจโท ช. และร้อยตำรวจโท ภ. มาฟังสนับสนุนคำซัดทอดของ ป. ดังกล่าว และบันทึกข้อความในภาพถ่ายแล้ว ทำให้คำพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๒๒๗/๑ ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน หรือพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่องประการอื่นอันอาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยาน หลักฐานนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน

               พยานหลักฐานประกอบตามวรรคหนึ่ง หมายถึง พยานหลักฐานอื่นที่รับฟังได้ และมีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากพยานหลักฐานที่ต้องการพยานหลักฐานประกอบนั้น ทั้งจะต้องมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่ สามารถสนับสนุนให้พยานหลักฐานอื่นที่ไปประกอบมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย