คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๑๒/๒๕๕๙ (ประชุมใหญ่)

               แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระหนี้กู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานก่อนก็ตาม แต่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ และบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองได้จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอาจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนอง จึงเป็นการฟ้องบังคับจำนองด้วย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาจำนองไม่มีข้อตกลงกันว่า หากโจทก์ผู้รับจำนองเอาทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้แก่ผู้รับจำนองได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้แก่ผู้รับจำนองโดยครบถ้วนอันเป็นการตกลงยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา ๗๓๓ ไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ โจทก์ไม่อาจขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนได้

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๓๘๐๓/๒๕๕๘ ข้อตกลงตามสัญญาจำนองที่ว่า หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ ๓ ผู้จำนองจะชำระส่วนที่ขาดจนครบ แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะผิดไปจากบัญญัติ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๓๓ ก็ตาม แต่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ และข้อตกลงตามบันทึกต่อ สัญญาจำนองที่กำหนดว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้จำนองต้องรับผิดในส่วนที่ขาดหากบังคับจำนองแล้วไม่พอชำระหนี้ก็เป็นไปตามปกติประเพณีของสัญญาจำนอง ซึ่งจำเลยที่ ๓ รวมทั้งจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต่างทราบดีอยู่แล้ว จะถือว่าโจทก์ได้เปรียบในการต่อรองในการปฏิบัติตามสัญญาและจำเลยทั้งสามต้องรับภาระหนักกว่าโจทก์มากตามความใน พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๑๐ (๑) (๓) และ (๔) หาได้ไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

              

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๗๓๓ ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น