คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๑๖/๒๕๖๒ 

               ผู้ตายและ ส. ภริยาถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุในเวลาใกล้เคียงกัน ถือได้ว่าเป็นการตายในเหตุภยันตรายร่วมกันและเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง ต้องถือว่าผู้ตาย และ ส. ถึงแก่ความตายพร้อมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗ ส. จึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย

               แม้ผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเป็นมารดาของ ส. มิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ส. เนื่องจาก ส. ภริยาของผู้ตายถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายพร้อมกับผู้ตาย แต่ ส. เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีสินสมรสปะปนกันอยู่ในลักษณะกรรมสิทธิ์รวม ผู้คัดค้านที่ ๑ ย่อมมีสิทธิในมรดกในส่วนสินสมรสของ ส. ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายบางส่วน จึงนับว่าผู้คัดค้านที่ ๑ มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ ๑ กับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันหรือตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะส่วน

               ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายกับ อ. ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส และผู้ตายยอมรับว่าผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นบุตร ได้ให้การอุปการะส่งเสียเล่าเรียน ให้ใช้นามสกุล แนะนำ และแสดงออกต่อญาติพี่น้องและบุคคลภายนอกว่าผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นบุตร ผู้คัดค้านที่ ๒ จึงอยู่ในฐานะบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายซึ่งเป็นบิดาให้การรับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๗ มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา ๑๖๒๐ และมาตรา ๑๖๒๙ (๑) ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตามมาตรา ๑๗๑๓

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๑๗ ในกรณีบุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน ถ้าเป็นการพันวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง ให้ถือว่าตายพร้อมกัน

               มาตรา ๑๖๒๗ บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

               มาตรา ๑๗๑๓ ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ 

               (๑) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์ 

               (๒) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก 

               (๓) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ

               การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร