คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๓๓/๒๕๓๘

               จำเลยที่ ๑ ได้สละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่พิพาทซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปีให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์และโจทก์ได้ชำระราคาค่าที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้วจึงได้มาทำสัญญาจะซื้อขายกันในภายหลังแม้จะกำหนดให้ไปจดทะเบียนโอนที่พิพาทกันเมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนก็ถือไม่ได้ว่าระยะเวลาดังกล่าวเป็นเงื่อนเวลาไปจดทะเบียนการโอนฟังไม่ได้ว่าสัญญาที่ทำกันไว้เป็นสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาดังกล่าวย่อมมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ โอนที่พิพาทแม้จะพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ตาม

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๔๕๔๒/๒๕๔๒ โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทนับตั้งแต่ซื้อจาก บ.ตลอดมา แม้ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนโจทก์จะยังไม่ได้สิทธิครอบครอง เนื่องจากถูกจำกัดโดยบทบัญญัติ มาตรา ๕๘ ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน แต่เมื่อโจทก์ยังครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนล่วงเลยระยะเวลาห้ามโอนแล้วเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปีเศษและเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของโจทก์ตลอดมา โดยไม่มีผู้อื่นเข้าไปยุ่งเกี่ยวแย่งการครอบครอง การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์จึงเป็นการยึดถือที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน โจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๖๗

               ฎีกาที่ ๖๑๙/๒๕๓๗ ผู้คัดค้านได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องตั้งแต่วันทำหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่ที่พิพาทมีข้อบังคับห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่ผู้คัดค้านได้รับโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๓๑ แสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ทางราชการจัดให้ราษฎรทำกินบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนาจะปกป้องราษฎรให้มีที่ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๐ ปี และภายในระยะเวลาดังกล่าวทางราชการได้ควบคุมที่ดินนี้อยู่ ยังไม่ปล่อยให้เป็นสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้คัดค้านจึงไม่อาจสละหรือโอนการครอบครองที่ดินตามหนังสือสัญญาซื้อขายให้แก่ผู้ร้องได้ ทั้งผู้ร้องจะเอาระยะเวลาการครอบครองซึ่งอยู่ภายในข้อบังคับห้ามโอนกรรมสิทธิ์มารวมคำนวณเป็นระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ หาได้ไม่

               ฎีกาที่ ๑๓๐๗/๒๕๓๗ ที่ดินพิพาทมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยโจทก์ได้รับมาตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๕๑๑ ดังนั้นสิทธิของโจทก์ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์จะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวมีข้อบังคับว่า ภายในกำหนดเวลาห้าปี นับแต่วันได้รับโฉนดที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้นอกจากการตกทอดทางมรดก หรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี ดังนั้น แม้ ส. บุตรจำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทจาก ผ. สามีโจทก์และรับมอบการครอบครองตั้งแต่วันที่ซื้อตลอดมา จนกระทั่งจำเลยรับโอนครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาถึงวันที่ยื่นคำร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ก็ตาม แต่จำเลยจะนำระยะเวลาก่อนวันที่พ้นระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายมาเป็นระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ หาได้ไม่

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๑๕๐ การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

               มาตรา ๑๓๘๒ บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์