คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๒๓/๒๕๖๒ 

               ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๕ และมาตรา ๑๕๖๗ (๓) แสดงให้เห็นว่า หากบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้มอบหน้าที่ให้บุตรทำการงานอันใดอันหนึ่งในครัวเรือนแล้วปรากฏว่ามีบุคคลใดทำละเมิดต่อชีวิตหรือร่างกายของบุตรซึ่งมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้แก่บิดามารดา ผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่บิดามารดาที่ต้องขาดแรงงานนั้นด้วย แต่เมื่อคดีนี้ขณะเกิดเหตุละเมิดโจทก์ที่ ๓ ยังเป็นเด็กเล็กไม่สามารถทำงานได้ตามกฎหมายแรงงาน และก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ได้มอบหน้าที่ให้โจทก์ที่ ๓ ช่วยทำการงานหรือดำเนินกิจการในครัวเรือนโจทก์ที่ ๓ จึงไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำงานให้เป็นคุณแก่ครัวเรือน กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๕ ที่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ จะมีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้อง

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๔๗๘๐/๒๕๕๘ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดค่าขาดรายได้จากการประกอบอาชีพของ ห. ผู้ตาย แต่มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. และ ห. ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมแก่ ล. อย่างไร โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้อง

                ฎีกาที่ ๑๗๙๕๐/๒๕๕๗ ค่าขาดแรงงานที่ผู้ตายทั้งสองไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่โจทก์ที่ ๔ ซึ่งศาลอุทธรณ์กำหนดให้อีกเป็นเงิน ๑๕๓,๗๖๐ บาทนั้น ค่าขาดแรงงานดังกล่าวมิใช่ค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๓ วรรคสาม อีกทั้งขณะผู้ตายทั้งสองยังมีชีวิตอยู่โจทก์ที่ ๔ ก็มิได้ร่วมกับผู้ตายทั้งสองทำงานอันจะถือได้ว่าผู้ตายทั้งสองช่วยดำเนินกิจการของโจทก์ที่ ๔ และเมื่อผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายทำให้เป็นกรณีที่ต้องขาดแรงงานแต่อย่างใด โจทก์ที่ ๔ จึงไม่สามารถเรียกค่าขาดแรงงานและค่าการศึกษาต่อมาอีกได้

               ฎีกาที่ ๖๙๐๕/๒๕๓๘ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๕ และมาตรา ๑๕๖๗ แสดงให้เห็นว่าหากบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้มอบหน้าที่ให้บุตรทำการงานอันใดอันหนึ่งในครัวเรือนแล้วปรากฏว่ามีบุคคลใดทำละเมิดต่อบุตรซึ่งมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้แก่บิดามารดาจนถึงแก่ความตายผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่บิดามารดาที่ต้องขาดแรงงานนั้นด้วยและการฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานดังกล่าวมิใช่การฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา ๔๔๓ วรรคสาม 

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๔๔๕ ในกรณีทำให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย