คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๙๒/๒๕๖๓
จำเลยให้การว่า หนังสือสัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม
ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ต้องนำสืบให้รับฟังว่าจำเลยกู้เงินตามจำนวนที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง
จำเลยกู้เงินโจทก์เพียง ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ภายหลังมีการแก้ไขจำนวนเงินกู้เป็น ๑๕๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม หนังสือสัญญากู้เงินจึงเป็นเอกสารปลอม
แต่หาใช่ว่าจะใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเพื่อฟ้องร้องไม่ได้เสียทั้งหมดไม่ยังคงใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมฟ้องร้องให้จำเลยรับผิดตามจำนวนเงินที่ถูกต้องก่อนถูกแก้ไขได้
จำเลยกู้เงินจากโจทก์เพียง ๒๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยที่โจทก์ คิดจากจำเลยเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท เท่ากับร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน เกินกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปี
ตามที่บัญญัติห้ามไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๔ และเป็นการกระทำอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๓ และตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา
๔ ยังคงบัญญัติเป็นความผิด การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐
โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลย คงเรียกร้องได้เฉพาะเงินต้นที่จำเลยกู้ไปซึ่งแยกออกจากส่วนดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะ
และต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักชำระออกจากต้นเงินและเมื่อมีจำนวนเกินกว่าเงินต้นที่กู้
จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
แม้จำเลยมิได้ให้การเป็นประเด็นว่าดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ
เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ และมาตรา ๖๕๔
แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชนที่ได้ข้อเท็จจริงมาจากคำเบิกความของโจทก์เอง
ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๕๐
การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา ๖๕๓, ๖๕๔
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๘๔/๑
อ่านเพิ่มเติม ฎีกาที่ 5633/2562
0 Comments
แสดงความคิดเห็น