คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๙๓/๒๕๖๓


               พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๑ มิได้กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ซึ่งได้รับมอบหมายจากสภามหาวิทยาลัยในการพิจารณาประเมินผลงานของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นอำนาจหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติรับรองไว้โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๕ (๑๐) อันเป็นเรื่องของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยซึ่งมีความเป็นอิสระแยกต่างหากจากระบบ ราชการเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในทางวิชาการดังที่ระบุไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวถึงเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมาย การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ในฐานคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ จึงหาใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินอันจะทำให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ราชการที่จะเข้าอยู่ในความหมายของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา ๑ (๑๖) ไม่ จำเลยทั้งสี่ไม่อาจกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา ๑๕๗ ตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องกล่าวหาได้ ขณะที่กรรมการในสภามหาวิทยาลัยก็ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกัน การรายงานผลการประเมินโจทก์ทั้งสองของจำเลยทั้งสี่ต่อสภามหาวิทยาลัยตามฟ้องก็ย่อมไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗

 

               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นองค์กรมหาชนอิสระที่แยกออกจากระบบราชการ หาใช่ส่วนราชการสังกัดกระทรวงหรือทบวงของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป...

 

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๑  ในประมวลกฎหมายนี้

               (๑๖)  “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่