คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๐/๒๕๖๓
โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท
เนื่องมาจาก การซื้อที่ดินพิพาทจาก ห. บิดาของจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ และที่ดินพิพาทขณะนั้นเป็นเพียงที่ดินมีสิทธิครอบครอง
การซื้อขายย่อม สมบูรณ์เพียงมีการส่งมอบการครอบครอง ตามประมวลกฎหมาย
แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๘ แม้ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๕ ปี
ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๑๒ นับแต่วันที่ ๕
กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเมื่อปี ๒๕๓๓ ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย
มีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐
แต่เมื่อโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนล่วงเลยระยะเวลาห้ามโอนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
เป็นการยึดถือโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน โจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๓๖๗ นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน คือนับแต่ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕
เป็นต้นไป การที่จำเลยที่ ๑ นำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดที่ดิน
เป็นการออกโฉนดที่ไม่ชอบ แม้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒
ไม่ว่าจำเลยที่ ๒ จะสุจริต และเสียค่าตอบแทนก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่
ตามฎีกานี้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน ให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท
ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษายืน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๓๖๗
บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
มาตรา ๑๕๐ การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การนั้นเป็นโมฆะ
พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๕๑๑
มาตรา ๑๒
ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน
ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดก
หรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี
ภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง
ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
0 Comments
แสดงความคิดเห็น