คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๓/๒๕๖๔
การให้ความยินยอมของคู่สมรสในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับ
การจัดการสินสมรสอันอยู่ในบังคับบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๖ กำหนดให้เฉพาะการจัดการสินสมรสที่มีความสำคัญตามมาตรา
๑๔๗๖ (๑) ถึง (๘) ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย การทำนิติกรรมในส่วนที่จำเลยที่
๒ ซึ่งเป็นสามีชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๓ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ หาได้อยู่ในบังคับมาตรา
๑๔๗๖ หรือเป็นการจัดการสินสมรสโดยตรงไม่ ดังนั้น
กรณีจะเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาก็ต่อเมื่อจำเลยที่ ๓
คู่สมรสได้ให้สัตยาบันตามมาตรา ๑๔๙๐ (๔) เท่านั้น
ตามหนังสือให้ความยินยอมของจำเลยที่
๓ คู่สมรสในการทำนิติกรรมระบุว่า คู่สมรสขอให้ความยินยอมต่อการที่คู่สมรสทำคำขอ
สัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับการขอใช้สินเชื่อทุกลักษณะหรือนิติกรรมใดๆ กับโจทก์
อันมีลักษณะเป็นการให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นเพียงการแสดงเจตนารับรู้ที่จำเลยที่
๒ สามีไปทำนิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๑๔๙๐ (๔) ไม่ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ว่าจำเลยที่ ๓ รับรองการที่จำเลยที่
๒ ก่อหนี้ขึ้นแล้วตามมูลหนี้ที่มีการทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑
คงปรากฏเฉพาะการที่จำเลยที่ ๓ รับรู้ถึงการเข้าทำสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ ๒
เมื่อจำเลยที่ ๓ ไม่ได้ให้สัตยาบันการก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๒
คู่สมรสได้กระทำไป จำเลยที่ ๓ ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ตามฟ้อง
เพิ่มเติม
ฎีกาที่
๘๘๒๐/๒๕๖๑ (ประชุมใหญ่) การที่จำเลยที่ ๒ คู่สมรสทำหนังสือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของ
ส. สามี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับ
ความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ ๒ ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป
จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม
จึงมิใช่เป็นการให้สัตยาบันของคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙๐(๔)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๔๙๐ หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส
ดังต่อไปนี้
(๔)
หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน
0 Comments
แสดงความคิดเห็น