คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๗๐/๒๕๖๓ 


               พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๙ มาตรา ๘๘ มาตรา ๘๙ มาตรา ๙๑ และมาตรา ๙๒ ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเฉพาะข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ เท่านั้น ไม่มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยในการกระทำความผิดอื่นนอกเหนือจากความผิดทั้งสามกรณีได้ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็น รัฐวิสาหกิจอยู่ในความหมายว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔ ตามสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานขององค์คณะพนักงานไต่สวนที่ได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า การกระทำของโจทก์มีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรงฐานจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน ข้อบังคับ หรือคำสั่งของธนาคาร เป็นเหตุให้ธนาคารเสียหายอย่างร้ายแรง และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นตามระเบียบของธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๓๕๓ ว่าด้วยวินัยของพนักงานธนาคาร ออมสิน ข้อ ๖ วรรคสอง และข้อ ๘ วรรคแรก ไม่มีมูลความผิดทางอาญาฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

               มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดทางวินัยโจทก์ เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๙ มาตรา ๘๘ มาตรา ๘๙, มาตรา ๙๑ และมาตรา ๙๒ ไม่มีผลผูกพันธนาคารรัฐวิสาหกิจจำเลยซึ่งเป็น ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ จำเลยไม่อาจอาศัยมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดทางวินัยโจทก์มาเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนเพื่อลงโทษโจทก์ได้ การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ให้ออกจากตำแหน่งตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นคำสั่งเลิกจ้างที่ไม่ชอบ เมื่อโจทก์ไม่ได้ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ดังนี้ ต้องถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตาม ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒

               มาตรา ๑๙ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

               (๓) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑

               มาตรา ๒๘ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

               (๑) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

               (๒) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

               (๓) กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว

               (๔) ไต่สวนเพื่อดำเนินคดีในฐานความผิดอื่นที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนด หรือที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

               (๕) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น

               ในการดำเนินการตาม (๔) ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการเอง หรือมอบหมายให้หน่วยงานที่ มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการเป็นผู้ดำเนินการก็ได้