คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๔/๒๕๖๔
ภายหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อ
จำเลยชำระค่าเช่าซื้อเพียง ๑๗ งวดแล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์อีกเลยเป็นเวลาเกินกว่าสามงวดติดต่อกัน
และโจทก์ยังมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๑๐ (ก)
ภายหลังจากนั้นจำเลยประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์
ซึ่งแม้สัญญาเช่าซื้อข้อ ๑๓ มีข้อตกลงให้สิทธิผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาโดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ก็ตาม
แต่ข้อตกลงในสัญญาที่ให้สิทธิผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใดก็ได้
ผู้เช่าซื้อจะต้องคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ
ณ สำนักงานของเจ้าของ และยังมีเงื่อนไขว่า “และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่
ในเวลานั้นทันที” แสดงว่าการที่จะถือว่าเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาของฝ่ายผู้เช่าซื้อ
จำเลยผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาอยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนด้วย
เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที
ดังนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๑๓
ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาตามข้อตกลงได้
พฤติการณ์ที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์และโจทก์รับมอบรถยนต์ไว้โดยไม่โต้แย้งคัดค้าน
ย่อมถือเป็นพฤติการณ์ที่โจทก์ และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย
โจทก์ไม่อาจ
อาศัยข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อที่ระงับไปแล้วเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระค่าขาดราคาได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๘๖ ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น
ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่
0 Comments
แสดงความคิดเห็น