คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๓๒/๒๕๖๒ 

                    โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าตามฟ้องมาด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นการขอให้ศาลสั่งเมื่อมีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดอันถือได้ว่าเป็นคำขออุปกรณ์ คดีนี้จึงเป็นคดีความอาญา ซึ่งวิธีพิจารณาคดีจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งหากมีบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดวิธีพิจารณาคดีไว้โดยเฉพาะแล้ว ก็ไม่นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม สำหรับเรื่องการขอเข้าร่วมเป็นคู่ความในคดีอาญานั้นมีได้เฉพาะดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและกรณีพนักงานอัยการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายในคดีที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น นอกเหนือจากสองกรณีดังกล่าวแล้ว การขอเข้าเป็นคู่ความในคดีไม่อาจจะมีได้ ทั้งการอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕ มาอนุโลมบังคับใช้ตามที่ผู้ร้องฎีกาก็ไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติกรณีเข้าเป็นคู่ความในคดีนี้ไว้โดยเฉพาะตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แล้ว ประกอบกับการเป็นคู่ความในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๑๕) มีเพียงสองฝ่าย คือโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีคู่ความฝ่ายที่สาม ดังนั้น แม้ผู้ร้องอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีและมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลย ผู้ร้องก็ไม่อาจยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อเป็นคู่ความฝ่ายที่สามได้

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

                    มาตรา ๓๐  คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้

                    มาตรา ๓๑  คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้ว พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดก่อนคดีเสร็จเด็ดขาดก็ได้