คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๗๖/๒๕๖๐(ประชุมใหญ่)
โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ
๕ ต่อเดือน และหลังจากทำหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่งแล้ว
จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
เป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๓ ประกอบ
ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๔ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา
แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒(๕) ประกอบด้วย มาตรา ๒๔๖
และมาตรา ๒๔๗(เดิม)
การที่จำเลยชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์
ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๑๑
จำเลยหาอาจจะเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย
เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ
และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้
ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้ฉบับที่หนึ่ง
เพิ่มเติม
ฎีกาที่
๗๖๖๖/๒๕๕๒ ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์เป็นการสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๔๐๗ จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับคืนดอกเบี้ยที่ได้ชำระไปแล้ว
จึงนำไปหักออกจากเงินต้นที่ค้างชำระไม่ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๐๗ บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ
ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่
มาตรา ๔๑๑ บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี
ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่
มาตรา ๖๕๔ ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี
ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี
พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
พุทธศักราช ๒๔๗๕
มาตรา ๓ บุคคลใด
(ก) ให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้
พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
พ.ศ. ๒๕๖๐
มาตรา ๔ บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใด ๆ
อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน
โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี
หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑)
เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้
(๒)
กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ
ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
หรือ
(๓)
กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน
หรือสิ่งของหรือโดยวิธีการใด ๆ
จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติในพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับการให้กู้ยืมเงินที่มีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราหรือการเรียกเอาประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ยยังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
0 Comments
แสดงความคิดเห็น