คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๓๑/๒๕๔๘
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
มี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ ออกใช้บังคับ มาตรา ๑๙ ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวยกเลิกความในมาตรา ๘๔
แห่ง ป.วิ.อ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยวรรคสุดท้ายของมาตรา ๘๔ ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่
๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป บัญญัติว่า ถ้อยคำใด ๆ
ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ
หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ
ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน
แต่ถ้าถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง
หรือมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี
แสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่มุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐานต่อเมื่อบทบัญญัติเรื่องการแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับตามมาตรา
๘๔ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๘๓ วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว
หาได้มีความหมายว่าขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้
ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว
ต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมมารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองด้วยไม่
เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ
และโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖ โดยชอบแล้ว ประกอบกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา
๘๔ วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ ต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง
ศาลฎีกาจึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษได้ตามกฎหมายเดิม
หมายเหตุ มาตรา ๘๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๔๗
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๘๔ วรรคท้าย
ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ
หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ
ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน
แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น
จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง
หรือตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี
0 Comments
แสดงความคิดเห็น