คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๗๘/๒๕๖๔
รถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุเป็นของ
ล. และผู้เสียหายยืมจากเพื่อนรุ่นน้องมาใช้ โดยไม่ปรากฏว่า ล.
ซึ่งเป็นเจ้าของรถได้มอบหมายโดยตรงให้ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษารถโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของทรัพย์
ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เมื่อ ล.
ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่
๑ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนสอบสวนจำเลยที่ ๑
ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นการไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
และผู้เสียหายไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑
รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุแก่ผู้เสียหายได้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๒
ในประมวลกฎหมายนี้
(๔) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง
รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๔, ๕ และ ๖
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๕๘ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์
ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี
หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น