คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๘๓/๒๕๖๔
โจทก์ยื่นใบสมัครงานต่อจำเลยและในใบสมัครงานระบุตำแหน่งที่สมัครคือผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและระบุเงินเดือนที่โจทก์ต้องการ
ใบสมัครงานเป็นการแสดงเจตนาทำคำเสนอเพื่อให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการทรัพยากรบุคคล
และเมื่อจำเลยสัมภาษณ์งานโจทก์โดยมีผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลย
รวมอยู่ในคณะผู้สัมภาษณ์ของจำเลย โจทก์ผ่านการสัมภาษณ์รอบแรก
และได้รับแบบทดสอบจากจำเลย เมื่อโจทก์ทำแบบทดสอบเสร็จแล้ว
ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลยนำแบบทดสอบที่โจทก์ทำไปให้ ภ.
กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย แล้วนำโจทก์ไปที่ห้องสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งมี
ภ. กับผู้จัดการโรงงานในเครือของจำเลยเข้าร่วมรับฟังอยู่ด้วยจนกระทั่ง ภ. เป็นผู้เขียนข้อความในใบสมัครงานของโจทก์ด้วยตนเองระบุรายละเอียดเรื่องตำแหน่งงาน
อัตราค่าจ้าง ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วนที่เอาใบเสร็จมาเบิกตามจริง ค่าโทรศัพท์ ค่าสึกหรอ
กรณีโจทก์ใช้รถยนต์ส่วนตัว และวันเริ่มทำงาน ทั้งมีการลงลายมือชื่อ ภ.
กรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยในช่องผู้มีอำนาจอนุมัติ
แสดงว่าจำเลยสนองรับโจทก์เข้าทำงานและตกลงจะให้สินจ้างตลอดระยะเวลาการทำงานให้แก่จำเลยแล้ว
ถือได้ว่าเป็นคำสนองของจำเลยที่ถูกต้องตรงกับคำเสนอของโจทก์อันก่อให้เกิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยและมีผลบังคับตั้งแต่วันที่จำเลยสัมภาษณ์งานโจทก์แล้ว
ส่วนการมอบหมายงานให้แก่โจทก์ซึ่งเป็น ลูกจ้างเป็นเพียงรายละเอียดของการทำงาน
หาใช่ว่าเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งยังไม่ตกลงมอบหมายงานให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งแล้วสัญญาจ้างแรงงานยังไม่เกิดขึ้นไม่เพราะไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคำเสนอของโจทก์และคำสนองรับของจำเลยที่ถูกต้องตรงกันมาแล้ว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๕๖
คำเสนอทำแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้า โดยมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น เสนอ ณ
ที่ใดเวลาใดก็ย่อมจะสนองรับได้แต่ ณ ที่นั้นเวลานั้น
ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลคนหนึ่งทำคำเสนอไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งทางโทรศัพท์ด้วย
0 Comments
แสดงความคิดเห็น