คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๑๓/๒๕๖๔
โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ ๑ โดยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน
และในวันทำสัญญาจำนอง จำเลยที่ ๑ ตกลงให้โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจล่วงหน้า
มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้จำนอง
และเมื่อโจทก์ผิดนัดชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ ๑ นำหนังสือมอบอำนาจไปโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่
๑ เพื่อชำระหนี้เสียเอง จึงไม่เป็นไปตามบัญญัติว่าด้วยการบังคับจำนอง
และเป็นผลให้ข้อตกลงที่แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒๘, ๗๒๙ และ ๗๓๕ ตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๗๑๔/๑
ไม่อาจใช้บังคับได้ในระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑
ไม่อาจนำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไปใช้เป็นหลักฐานในการโอนที่ดิน
พิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ ๑ ได้
ปัญหาว่าข้อตกลงที่แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา ๗๒๘,
๗๒๙ และ ๗๓๕ ตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๗๑๔/๑
เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา
ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕)
ประกอบมาตรา ๒๔๖ และมาตรา ๒๕๒
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๑๕๑๐/๒๕๔๒
การที่จำเลยผู้จำนองและโจทก์ผู้รับจำนองได้ทำหนังสือมอบอำนาจ โดยจำเลยยอมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนอง
ให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๗๑๑ นั้น ย่อมมีผลเพียงทำให้ข้อตกลงดังกล่าวไม่สมบูรณ์โดยโจทก์จะบังคับหรือ ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้เท่านั้น
หามีผลทำให้นิติกรรม การจดทะเบียนจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยในส่วนอื่น ที่กระทำโดยชอบต้องเสียไปหรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด
เมื่อปรากฏว่า จำเลยยังมิได้ชำระหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังมีผลใช้บังคับได้
โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๗๑๔/๑ บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการจำนองที่แตกต่างไปจากมาตรา ๗๒๘ มาตรา
๗๒๙ และมาตรา ๗๓๕ เป็นโมฆะ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น