คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๐๕/๒๕๖๔ 

               การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับ ธ. ครั้งแรก ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นโมฆียะกรรมและโจทก์บอกล้างแล้ว ตกเป็นโมฆะกรรม โจทก์ไม่อาจอ้างการให้สัตยาบันแก่กันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒ การซื้อขายในครั้งหลังที่โจทก์อ้างว่าตกลงกันให้ถือเอาการจดทะเบียนซื้อขายครั้งแรกเป็นเป็นการจดทะเบียนการซื้อขายในครั้งหลังจึงทำไม่ได้ มีผลเท่ากับว่าไม่มีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดิน รวมถึงที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ ธ. ข้อตกลงกันระหว่างโจทก์ กับ ธ. ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างคู่กรณี แต่ไม่อาจจะตกลงกันให้นิติกรรมที่มีคำพิพากษาว่าเป็นโมฆะแล้ว กลับเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้ นอกเสียจากมีการทำนิติกรรม และจดทะเบียนกันขึ้นใหม่

              

               ตามฎีกานี้ มีผลว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ซึ่งจำเลยอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ (ดู ป.พ.พ.มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง, มาตรา ๑๓๘๒) 

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๑๗๒  โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้

               ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ