คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๗๗/๒๕๖๔
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจากต้นเงิน
๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท
ถูกต้องตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง
แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน ๕,๕๕๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้อง ซึ่งไม่ตรงกับคำวินิจฉัย
ถือได้ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีข้อผิดพลาดเล็กน้อย
จำเลยชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขต้นเงินที่ใช้คำนวณดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง
เพื่อให้ถูกต้องตรงตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๓ วรรคหนึ่ง
ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๗ มิใช่เป็นการทำคำสั่งที่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิมศาลมีอำนาจมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขคำพิพากษาที่มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยได้
โดยหาจำต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์เพื่อคัดค้านและทำการไต่สวนก่อนไม่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๔๓ ไม่ได้ บัญญัติให้การแก้ไขคำพิพากษาที่มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยต้องกระทำก่อนที่การบังคับคดีเสร็จสิ้น
แม้มีการบังคับคดีเสร็จสิ้นแล้ว
จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขคำพิพากษาที่มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยได้
คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไม่ได้กล่าวถึงการได้รับชำระหนี้ภายหลังยื่นฟ้องของโจทก์
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิด
โดยไม่ได้นำจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ภายหลังยื่นฟ้องมาหักออกก่อนจึงตรงตามที่ได้วินิจฉัยไว้แล้ว
หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ครบถ้วนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาเป็นการไม่ถูกต้อง
จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค ๑
เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป กรณีมิใช่คำพิพากษามีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๓ วรรคหนึ่ง
ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๗ เพราะมีผลเป็นการแก้คำวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนหนี้ในคำพิพากษาเดิม
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๑๒๘๙๘/๒๕๕๗
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถ ๑,๑๙๐,๐๐๐ บาท เมื่อรวมกับค่าบริการยกรถ ๑๘,๐๐๐ บาท
และค่ารักษาพยาบาล ๓๙,๙๔๔ บาท แล้ว
พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดต่อโจทก์ ๑,๒๐๘,๐๐๐ บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะผลรวมของค่าเสียหายทั้งสามจำนวนที่ถูกต้องคือ
๑,๒๔๗,๙๔๔ บาท
เป็นการรวมจำนวนค่าเสียหายและพิพากษาไม่ตรงกับข้อวินิจฉัย
กรณีดังกล่าวเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย แม้จำเลยทั้งสามฎีกาเพียงฝ่ายเดียว
ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๓ ประกอบมาตรา ๑๔๒ (๕)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๔๓
ถ้าในคำพิพากษาหรือคำสั่งใด มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ
และมิได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
เมื่อศาลที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งนั้นเห็นสมควร
หรือเมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาด
หรือข้อผิดหลงเช่นว่านั้นให้ถูกก็ได้
แต่ถ้าได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
อำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้น ย่อมอยู่แก่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา
แล้วแต่กรณี คำขอให้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้น ให้ยื่นต่อศาลดังกล่าวแล้ว
โดยกล่าวไว้ในฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกา หรือโดยทำเป็นคำร้องส่วนหนึ่งต่างหาก
การทำคำสั่งเพิ่มเติมมาตรานี้
จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิม
เมื่อได้ทำคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว
ห้ามไม่ให้คัดสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิม
เว้นแต่จะได้คัดสำเนาคำสั่งเพิ่มเติมนั้นรวมไปด้วย
0 Comments
แสดงความคิดเห็น