คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๓/๒๕๖๕
คำให้การชั้นจับกุม
แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๔ วรรคท้าย
จะห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน
แต่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น
มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น
จึงรับฟังบันทึกการจับกุมของจำเลยที่ ๓
ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมและพยานหลักฐานอื่นที่โจทก์อ้างเป็นพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๒๒๖ เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒
ร่วมกันนำรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนของกลางบรรทุกมากับรถกระบะเดินทางจากกรุงเทพมหานคร
ไปยังจุดเกิดเหตุห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชาเพียง ๓ กิโลเมตร
เพื่อจะส่งมอบแก่ผู้รับช่วงนำรถจักรยานยนต์ส่งข้ามชายแดนไปประเทศกัมพูชา
ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว
แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าพนักงานพบเห็นและจับกุมจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
เสียก่อน จำเลยที่ ๑ และที่ ๒
มีความผิดฐานร่วมกันพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร
ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๒ วรรคหนึ่งและวรรคสอง
ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๘๓
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๖๗๖๖/๒๕๖๑
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา ๘๔ วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐
มาตรา ๓ จะห้ามมิให้รับฟังคำรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐาน
แต่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น
แต่มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดอื่น
จึงรับฟังบันทึกการจับกุม บันทึกถ้อยคำ และภาพถ่ายการชี้ตัว
ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๘๔ วรรคท้าย
“ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ
หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ
ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน
แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น
จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง
หรือตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี”
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๘๐
ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด
หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด
ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
0 Comments
แสดงความคิดเห็น