คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕๖/๒๕๖๔
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๗๔๘ วรรคหนึ่ง เป็นบทยกเว้นอายุความที่ทายาทจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งมรดกตาม
มาตรา ๑๗๕๔ กล่าวคือ หากทายาทคนใดมิได้ครอบครองทรัพย์มรดกส่วนที่ยังไม่ได้แบ่งกัน
การฟ้องคดีมรดกย่อมตกอยู่ในบังคับอายุความหนึ่งปีหรือสิบปีตามมาตรา ๑๗๕๔
ซึ่งจะฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกจากทายาทผู้ครอบครองมิได้
เว้นแต่ทายาทคนนั้นจะได้ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทอื่น และการที่จะวินิจฉัยว่า
ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดีเพราะไม่มีบทกฎหมายให้สันนิษฐานว่าทายาทคนใดที่ครอบครองทรัพย์มรดก
ให้ถือว่าครอบครองแทนทายาทอื่น
ก.
ครอบครองและบริหารจัดการที่ดินที่ได้มาในระหว่างสมรสกับ จ. ตั้งแต่ จ.
ยังมีชีวิตอยู่เนื่องจากมีชื่อ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อ จ.
ถึงแก่ความตายในปี ๒๕๓๒ ก. ยังคงครอบครองและจัดการที่ดิน
ทั้งหมดด้วยตนเองตลอดมาจนถึงปี ๒๕๔๑
จึงแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการทรัพย์สินรวมทั้งที่ดินทั้งหมด แสดงว่าโจทก์มิได้ถือว่าที่ดินทั้งหมดรวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ
จ. หากแต่เป็นของ ก. และ ก. ครอบครองมาโดยตลอดเพียงผู้เดียว เมื่อ ก.
มิได้เป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ถือไม่ได้ว่า ก. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น
ทั้งโจทก์ดำเนินการต่างๆ ในช่วงปี ๒๕๔๑ ถึงปี ๒๕๔๙ ในนามตัวแทนของ ก.
มิได้ยึดถือที่ดินทั้งหมดเพื่อตน
ประกอบกับทายาทอื่นมิได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดิน กรณีไม่ต้อง
ด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๔๘ วรรคหนึ่ง จ.
ถึงแก่ความตายวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๒ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์
๒๕๖๐ เกินกำหนดสิบปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ วรรคหนึ่งและวรรคสี่
จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิของ ก.
ผู้เป็นทายาทมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตามมาตรา ๑๗๕๕
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๙๙๙๒/๒๕๖๐
(ประชุมใหญ่) ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๕๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี
นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้
หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" และวรรคสี่
บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี
สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย"
อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๗๔๘ วรรคหนึ่ง
ซึ่งบัญญัติว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน
ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้
แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี"
การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น
ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย
การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี
เพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย
อายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๗๔๘
ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน
ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้
แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ แล้วก็ดี
สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน
จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้
มาตรา ๑๗๕๔
ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม
มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา
๑๙๓/๒๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี
มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้
หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี
สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น
มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย
0 Comments
แสดงความคิดเห็น