คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๒/๒๕๖๕
สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยมีเพียงโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับจ้างฝ่ายเดียว
จำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ว่าจ้าง
ต้องถือว่าการให้บริการรักษาความปลอดภัยตามคำฟ้องไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือเป็นโมฆะตามพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย
พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๒๕ วรรคสอง
แม้การให้บริการรักษาความปลอดภัยของโจทก์แก่จำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ
ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๗
มิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะ แต่พระราช บัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย
พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง บัญญัติว่า
การให้บริการรักษาความปลอดภัยต้องทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง
มิฉะนั้น เป็นโมฆะ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๗
มาใช้บังคับแก่การให้บริการรักษาความ ปลอดภัยได้
สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยตกเป็นโมฆะเพราะมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้างตามพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย
พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๒๕ จำเลยต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้แก่บริษัทโจทก์
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง
ซึ่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ
และการรักษาความปลอดภัยเป็นการให้บริการย่อมเป็นทรัพย์สิ่งใดที่คืนกันได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๖ โดยการคืนทรัพย์สินในกรณีนี้ทำได้ด้วยกำหนดให้จำเลยใช้เงินเป็นจำนวนเท่ากับบริการที่จำเลยได้รับจากโจทก์พร้อมดอกเบี้ย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๗๒ โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้
และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้
ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม
ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ
มาตรา ๔๐๖
บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี
หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้
และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้
ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่ง การรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น
ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย
บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มา
เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น
หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย
พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย
พ.ศ.๒๕๕๘
มาตรา ๒๕
การให้บริการรักษาความปลอดภัยต้องทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง
ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑)
ชื่อและที่อยู่ของบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง
(๒) วันที่ทำสัญญา
(๓)
ขอบเขตของงานและระยะเวลาให้บริการรักษาความปลอดภัย
(๔)
ค่าจ้างและการจ่ายเงินค่าจ้าง
(๕)
หน้าที่และความรับผิดของบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง
(๖) ค่าปรับ
(๗)
การกำหนดค่าเสียหาย
(๘) การเลิกสัญญา
ให้การให้บริการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือหรือมีรายการไม่ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง
เป็นโมฆะ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น