คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๐/๒๕๖๕
แม้การป้องกันเกินกว่ากรณีจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๖๙
จะหมายความรวมถึงการกระทำโดยเจตนาพิเศษเพื่อป้องกันสิทธิต่อภยันตรายที่ยังอยู่ห่างไกลด้วยก็ตาม
เนื่องจากไม่มีเหตุผลที่ผู้ถูกทำร้ายจะต้องเสี่ยงภัยคอยให้ผู้ทำร้ายเริ่มทำร้ายเสียก่อนจึงจะใช้สิทธิป้องกันได้
แต่กรณีเช่นว่านั้นจะต้องได้ความว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้นแล้วเพียงแต่ภัยยังไม่ใกล้จะถึงมิใช่ภัยยังไม่เกิดขึ้นเลย
ผู้ตายพูดขู่ว่าจะฆ่าจำเลยมาเป็นเวลา
๒ ถึง ๓ ปี แล้ว
แต่ไม่เคยนำอาวุธปืนไปจ่อหรือเล็งจำเลยขณะจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย
ผู้ตายอยู่ในอาการมึนเมาสุราและหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย
เป็นเรื่องที่จำเลยคิดเอาเองว่าหากผู้ตายตื่นขึ้นมาผู้ตายจะต้องฆ่าจำเลยกับบุตร
ทั้งที่ยังไม่มีพฤติการณ์ใดที่จะส่อว่า ผู้ตายจะใช้อาวุธปืนยิงจำเลยกับบุตร
ถือว่ายังไม่มีภยันตรายที่จำเลยจะต้องป้องกัน
การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะหรือไม่
เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบ เรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้
แม้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๗๖๕๐/๒๕๕๓ จำเลยจะไม่ยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยกระทำโดยป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุขึ้นว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค
๔ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง
ประกอบมาตรา ๒๒๕
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๖๙ ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา
๖๗ และมาตรา ๖๘ นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ
หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน
ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว
ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้
0 Comments
แสดงความคิดเห็น