คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙/๒๕๖๕ 

                    โจทก์ร่วมทั้งสามกับ ฉ. สามีของโจทก์ร่วมที่ ๓ ปรึกษาหารือกันเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ และมีความเห็นในเบื้องต้นว่า น่าจะถูกจำเลยหลอกลวงเป็นเพียงการคาดคะเนจากการที่ได้พูดคุยกัน มิใช่โจทก์ร่วมทั้งสามมั่นใจแล้วว่าถูกจำเลยหลอกลวง เพราะหลังจากนั้นก็ยังมีการติดตามทวงถามเอาแก่จำเลยอยู่อีก จนกระทั่งในเดือน พฤศจิกายน ๒๕๖๑ จำเลยบ่ายเบี่ยง อันเป็นพฤติการณ์ที่ส่อว่าไม่ได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินตามที่จำเลยแจ้งแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสามทราบแน่ชัดว่าถูกจำเลยหลอกลวง โจทก์ร่วมทั้งสามร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ เป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖

 

เพิ่มเติม

                    ฎีกาที่ ๔๒๒๕/๒๕๕๙ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเสนอขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยแจ้งว่าเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิการครอบครองและรับรองว่าสามารถจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ แต่เนื่องจากที่ดินติดจำนองธนาคาร จำเลยจะนำเงินที่ได้จากโจทก์ไปไถ่ถอนจำนองมาจดทะเบียนโอนให้โจทก์ภายในเดือนเมษายน ๒๕๕๕ ต่อมาวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ โจทก์ตรวจสอบพบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ๔ - ๐๑ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จึงฟังได้ว่าโจทก์ทราบเรื่องที่ถูกหลอกว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ๔ - ๐๑ มิใช่ที่ดินมีเอกสารสิทธิที่จะสามารถโอนให้กันได้ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เกิน ๓ เดือน นับแต่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เพิ่งทราบเรื่องความผิดฐานฉ้อโกงในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยรับรองว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพันในที่ดินพิพาทให้กระทบสิทธิของโจทก์เพราะเป็นการตกลงกันภายหลัง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง

 

ประมวลกฎหมายอาญา

                    มาตรา ๙๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ