คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๙๕/๒๕๖๕ 

                    โจทก์กับ ว. อยู่อาศัยในบ้านและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โดยอาศัยสิทธิของ ป. บิดาของ ว. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิม เป็นการครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทน ป. แม้โจทก์เป็นผู้ปลูกต้นมะพร้าวในที่ดินพิพาทก็ตาม แต่ต้นมะพร้าวเป็นไม้ยืนต้นย่อมเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง เมื่อ ป. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จําเลยที่ ๒ ร. และ ฐ. แล้ว จําเลยที่ ๒ ร. และ ฐ. จึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในต้นมะพร้าวนั้น การที่จําเลยที่ ๒ ให้คนงานตัดลูกมะพร้าวในที่ดินพิพาทไปขาย จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

 

เพิ่มเติม

                    ฎีกาที่ ๔๘๔๑/๒๕๖๐ แม้ต้นปาล์มและต้นมะพร้าวโจทก์ทั้งสองจะปลูกไว้ แต่เมื่อเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ผลปาล์มและต้นมะพร้าวจึงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๕ ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองเข้าไปเอาผลปาล์ม แล้วเข้าไปตัดโค่นทำลายต้นมะพร้าว จะถือว่าทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่ได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสอง

                    ส่วนต้นกล้วยเป็นไม้ล้มลุก ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ปลูกจึงเป็นเจ้าของต้นกล้วย จำเลยทั้งสองเข้าไปโค่นทำลาย ทั้ง ๆ ที่รู้แล้วว่าแม้จะปลูกอยู่ในที่พิพาทแต่ต้นกล้วยเหล่านั้นเป็นของโจทก์ทั้งสอง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและเป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องและจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในมูลละเมิดที่เกิดจากการกระทำของตน

 

ประมวลกฎหมายอาญา

                    มาตรา ๓๓๔ ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท