คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๗๙/๒๕๖๖
ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องยื่นคําร้องขอให้บังคับจําเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๔๔/๑ แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดให้ผู้ร้องมาฟังคําพิพากษาศาลชั้นต้น
และไม่ได้อ่านคําพิพากษาศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องฟัง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๘๒ และกระทบต่อสิทธิในการอุทธรณ์ของผู้ร้อง ศาลอุทธรณ์ ภาค ๔
พิพากษาคดีโดยมิได้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน
คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฎีกาของคู่ความ
กรณีต้องย้อนสํานวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคําพิพากษาศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องฟังตามกฎหมาย
หากผู้ร้องอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์คําพิพากษา ศาลชั้นต้นในคดีส่วนแพ่งอย่างไร
ให้ศาลชั้นต้นรวบรวมถ้อยคําสํานวนส่งศาลอุทธรณ์ภาค ๔ เพื่อพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๘ (๒) ประกอบมาตรา ๒๒๕
เพิ่มเติม
คู่ความ; ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘๒ วรรคสอง
มีจุดมุ่งหมายให้คู่ความได้ทราบคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา(ฎีกาที่
๙๑๘๑/๒๕๕๕), ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘๒ วรรคสองและวรรคสาม
บัญญัติให้ศาลอ่านคำพิพากษาในศาลต่อหน้าคู่ความโดยเปิดเผย
เมื่ออ่านแล้วให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ และมาตรา ๒ (๑๕)
ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "คู่ความ"ไว้ว่าหมายถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมาตรา ๒ (๓) บัญญัติคำว่า
"จำเลย"หมายถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้ว
โดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด(ฎีกาที่ ๑๐๑๕/๒๕๔๑); ทนายจำเลยมิได้เป็นจำเลยหรือเป็นคู่ความตามความหมายดังกล่าวแต่อย่างใด
เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีฟัง
โดยมีล่ามแปลให้จำเลยเข้าใจผลแห่งคำพิพากษานั้น
และให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้แล้วเช่นนี้ เป็นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอ่านคำพิพากษาโดยชอบแล้ว
ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ทนายจำเลยทราบจะขัดต่อระเบียบหรือวิธีปฏิบัติหรือไม่อย่างไร
ก็หาเป็นเหตุให้การอ่านคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายกลับกลายเป็นไม่ชอบไม่(ฎีกาที่
๑๐๑๕/๒๕๔๑), ทนายจำเลยที่ ๒ มิได้เป็นจำเลยที่ ๒
หรือเป็นคู่ความตามความหมายดังกล่าวแต่อย่างใด
จึงไม่อาจถือว่าการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๘ ให้แก่ทนายจำเลยที่ ๒
เป็นการส่งให้แก่จำเลยที่ ๒ ด้วย(ฎีกาที่ ๑๐๑๗๓/๒๕๕๘), ทนายจำเลยมิได้เป็นจำเลยหรือเป็นคู่ความตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๓) และมาตรา ๒ (๑๕)
การที่ศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๗
ให้จำเลยฟังและให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้แล้ว
ทั้งจำเลยซึ่งเป็นชาวต่างประเทศเข้าใจผลแห่งคำพิพากษาโดยไม่ต้องมีล่าม
จึงเป็นการอ่านคำพิพากษาที่ชอบด้วยมาตรา ๑๘๒ วรรคสองและวรรคสามแล้ว
ไม่มีเหตุยกเลิกการอ่านคำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรี
ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๗
ให้ทนายจำเลยทราบ
จะเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการปรึกษากับทนายจำเลยในการยื่นฎีกาหรือไม่
ก็ไม่เป็นเหตุให้การอ่านคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย(ฎีกาที่
๓๒๐๘/๒๕๔๙)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๘๒
คดีที่อยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามีคําร้องระหว่างพิจารณาขึ้นมา
ให้ศาลสั่งตามที่เห็นควร เมื่อ การพิจารณาเสร็จแล้ว ให้พิพากษาหรือสั่งตามรูปความ
ให้อ่านคําพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันเสร็จการพิจารณา
หรือภายในเวลาสามวันนับแต่เสร็จคดี ถ้ามีเหตุอันสมควรจะเลื่อนไปอ่านวันอื่นก็ได้
แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้
เมื่อศาลอ่านให้คู่ความฟังแล้ว
ให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ ถ้าเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่มา
จะอ่านโดยโจทก์ไม่อยู่ก็ได้ ในกรณีที่จําเลยไม่อยู่
โดยไม่มีเหตุสงสัยว่าจําเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟัง
ก็ให้ศาลรอการอ่านไว้จนกว่าจําเลยจะมาศาล แต่ถ้ามีเหตุสงสัยว่าจําเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟังให้ศาลออกหมายจับจำเลย
เมื่อได้ออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวจําเลยมาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันออกหมายจับ
ก็ให้ศาลอ่านคําพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจําเลยได้
และให้ถือว่าโจทก์หรือจําเลยแล้วแต่กรณีได้ฟังคําพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว
ในกรณีที่คําพิพากษาหรือคำสั่งต้องเลื่อนอ่านไปโดยขาดจําเลยบางคน
ถ้าจําเลยที่อยู่จะถูกปล่อย
ให้ศาลมีอำนาจปล่อยชั่วคราวระหว่างรออ่านคําพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
0 Comments
แสดงความคิดเห็น