คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๙๘/๒๕๖๖
คำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นการตรวจสอบข้อมูลบุคคลเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ต้องหา
ตรวจสอบประวัติอาชญากรอันเป็นการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดเพื่อประกอบการพิจารณาเงื่อนไขในการเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๙๒ และมาตรา ๙๓ และเพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๓๒ (๑) อันเป็นอำนาจที่กฎหมายให้แก่พนักงานสอบสวน
คดีนี้และคดีก่อนเป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๔
มิให้นําประวัติการกระทำความผิดในครั้งก่อนหรือครั้งหลังมาเพิ่มโทษจําเลยได้
แต่การพิมพ์ลายนิ้วมือมิใช่วัตถุประสงค์เพื่อการเพิ่มโทษเพียงประการเดียว
แต่ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสอบสวนซึ่งรัฐย่อมมีอำนาจที่จะรวบรวมและเก็บข้อมูลของบุคคลได้ภายในขอบเขตความจําเป็น
ทั้งยังสามารถนําข้อมูลที่ได้จากการพิมพ์ลายนิ้วมือมาประกอบการดำเนินการแก่จําเลยต่อไปได้
เช่น เรื่องการขอให้นับโทษต่อ เป็นต้น ดังนั้น
การที่จําเลยปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
จึงมีความผิดตามฟ้อง
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๖๘
ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้
ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการสั่งเช่นว่านั้น
เป็นคำสั่งให้ช่วยทำกิจการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้สั่งให้ช่วยได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายเหตุ
อำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้; คำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือเป็น เป็นอำนาจที่กฎหมายให้แก่พนักงานสอบสวน เพื่อประกอบการพิจารณาเงื่อนไขในการเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา ๙๒ และมาตรา ๙๓ และเพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๒ (๑)(ฎีกาที่ ๓๐๙๘/๒๕๖๖)
0 Comments
แสดงความคิดเห็น