การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้รับจำนองทราย
เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่
คำพิพากษาฎีกาที่
๓๘๕๓/๒๕๖๖ ตอนที่ ๑๐ หน้า ๒๔๑๒
เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดที่ดิน
พร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้รับจํานองได้ทราบก่อนการขายทอดตลาดทรัพย์
เป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด
เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ในเรื่องสำคัญและเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๓๓๑ วรรคสองและวรรคสาม ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องมีความระมัดระวัง
เพราะเป็นหน้าที่ของตนตามกฎหมาย
แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง
ย่อมเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ความรับผิดในกรณีเช่นนี้จึงตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๕ วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื่องจากมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติว่า “บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ
ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน”
ดังนั้น
ในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ. ๒๕๓๙ กล่าวคือ มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่
ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง
แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้...” กรณีจึงไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า
ข้อ ๔ ของหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน
มีผลยกเว้นความรับผิดทางละเมิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ เพียงใด
เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๕ วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่
และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕
ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๒๘๕
ความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อ
ลูกหนี้ตามคําพิพากษาหรือต่อบุคคลภายนอกเพื่อความเสียหายที่เกิดจากหรือเกี่ยวเนื่อง
กับการยึด อายัด หรือขายทรัพย์สินโดยมิชอบหรือเกินกว่าที่จําเป็นแก่การบังคับคดี
หรือ การบังคับคดีโดยมิชอบในกรณีอื่น ย่อมไม่ตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี
แต่ตกอยู่แก่ เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา
เว้นแต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ
แห่งประมวลกฎหมายนี้
ในกรณีที่ความรับผิดตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง
และเป็นเรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่
การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่หรือตามกฎหมายอื่นไม่ว่าโดยบุคคลใด
ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องอันจะต้องยึดหรืออายัด
หรือไม่ขายทรัพย์สิน หรือไม่ดำเนินการบังคับคดีในกรณีอื่น หรือไม่กระทำการ
ดังกล่าวภายในเวลาอันควรโดยจงใจหรือปราศจากความระมัดระวังหรือโดยสมรู้เป็นใจ
กับลูกหนี้ตามคําพิพากษาเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาได้รับความเสียหาย
ให้นําความในวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
0 Comments
แสดงความคิดเห็น