ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๑๐๕๗ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้ ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้ คือ

               (๑) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องฟ้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน โดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง

               (๒) เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้อีก

               (๓) เมื่อมีเหตุอื่นใด ๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้

 

หมายเหตุ

1.         ผู้มีสิทธิร้องขอจะต้องมีฐานะเป็นหุ้นส่วน; เมื่อโจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนเพราะได้ตกลงถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิมาฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนและขอชำระบัญชีในห้างพิพาทได้(ฎีกาที่ ๒๐๒๒/๒๕๒๖)

2.         การร้องขอต่อศาลผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะฟ้องร้องเป็นคดีมีข้อพิพาทก็ได้ หรือจะเริ่มต้นด้วยการร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทก็ได้; การขอให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๕๗ นั้นผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะฟ้องร้องเป็นคดีมีข้อพิพาทก็ได้ หรือจะเริ่มต้นด้วยการร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทก็ได้และในกรณีหลังนี้หากมีหุ้นส่วนอื่นไม่เห็นพ้องด้วย ย่อมมี สิทธิร้องคัดค้านเข้ามาเกี่ยวข้อง ในคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๘ และศาลต้องดำเนินคดีต่อไปอย่างคดีมีข้อพิพาท(ฎีกาที่ ๒๕๑๒/๒๕๒๘)

3.         ฟ้องให้เลิกห้างได้ทันทีโดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อนตามมาตรา ๑๐๕๖ แต่อย่างใด; การฟ้องขอเลิกหุ้นส่วนในกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งซึ่งมิใช่ผู้ฟ้องร้องได้จงใจล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนเป็นกรณีที่ต้องด้วยบทมาตรา ๑๐๕๗ (๑) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ย่อมฟ้องร้องได้ทันที ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือคอยระยะเวลาสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๕๖(ฎีกาที่ ๗๕/๒๕๐๑), การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีอ้างว่า มีเหตุอื่นใดๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๕๗ (๓) อันก่อสิทธิฟ้องคดีได้โดยสมบูรณ์หาใช่กรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีกำหนดการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติประสงค์จะเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่มีเหตุอันจะต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๐๕๖ ประกอบมาตรา ๑๐๕๕ (๔) ไม่ โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องโดยหาต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๐๕๖ ก่อน(ฎีกาที่ ๑๑๒๙/๒๕๕๔)

4.         บุคคลที่ถูกฟ้องคดี; ฟ้องหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดก็ได้ ไม่จำต้องฟ้องทุกคน(ฎีกาที่ ๘๒๖/๒๔๙๕),

5.          การพิจารณาคดี ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้ เป็นการให้ศาลใช้ดุลพินิจ; เมื่อทางไต่สวนได้ความว่า ห้างหุ้นส่วนที่ผู้ร้องกับนายสุวัฒน์เข้าหุ้นส่วนกันไม่มีเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกเงินทดรองและค่าใช้จ่ายของตนไปเพื่อจัดการค้าของห้างสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนมีแต่เงินฝากอยู่ในบัญชีกระแสรายวันและบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น การที่จะรื้อฟื้นให้พิจารณาเรื่องบัญชีของห้างหุ้นส่วนต่อไปก็คงไม่ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นจึงเห็นสมควรพิพากษาไปทีเดียว ให้แบ่งเงินทุนและผลกำไรโดยไม่ต้องตั้งผู้ชำระบัญชีก่อนได้(ฎีกาที่ ๔๗๗๓/๒๕๓๖)

6.         ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน โดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง(มาตรา ๑๐๕๗ (๑); โจทก์จำเลยเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการบังกะโลให้เช่า จำเลยไม่จัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย งบกำไรขาดทุน ไม่แบ่งปันผลกำไรให้แก่โจทก์ ถือว่าเป็นการประพฤติผิดสัญญาหุ้นส่วนในสาระสำคัญเป็นเหตุที่จะเลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๕๗(๑)(ฎีกาที่ ๓๔๓๑/๒๕๔๖)

7.         มีเหตุอื่นใด ๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้(มาตรา ๑๐๕๗ (๓); การที่โจทก์และจำเลยทั้งหกมีข้อพิพาทต่อกันหลายคดี รวมถึงการดำเนินกิจการโรงรับจำนำ ฮ. โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาให้โจทก์นำเงินรายได้ประจำวันของโรงรับจำนำ ฮ. มาวางศาล และขอให้ตั้งจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ตรวจบัญชี แสดงให้เห็นว่าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ปรองดองกันและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งการเป็นหุ้นส่วนกันนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนเองจึงไม่สามารถบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขายหุ้นส่วนของฝ่ายนั้นให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งได้ กรณีเหลือวิสัยที่ห้างหุ้นส่วนจะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ จึงมีเหตุที่ศาลจะพิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๕๗ (๓)(ฎีกาที่ ๑๐๐๖๘/๒๕๕๑), โจทก์และจำเลยต่างมีปัญหาด้านการเงินประสงค์จะเลิกกิจการห้างหุ้นส่วนกัน จำเลยกลับท้าให้โจทก์ฟ้องคดีและให้การต่อสู้คดีปฏิเสธการเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์เช่นนี้ ถือได้ว่ามีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๕๗ (๓) ดังนั้น โจทก์มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนได้(ฎีกาที่ ๔๒๔๕/๒๕๕๑), ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๑ มีหุ้นส่วนเพียง ๒ คน คือโจทก์และจำเลยที่ ๒ โจทก์และจำเลยที่ ๒ ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนไม่สามารถจะทำธุรกิจร่วมกันต่อไปได้ ทั้งหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดก็มีเพียงจำเลยที่ ๒ เท่านั้น ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นหุ้นส่วนผู้ใดได้อีก จึงทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๑ เหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๕๗ (๓)(ฎีกาที่ ๕๑๘๔/๒๕๕๐), ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๑ มีผู้เป็นหุ้นส่วนสองคน คือโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ ๒ ยักยอกทรัพย์ ของห้างหุ้นส่วน และจำเลยที่ ๒ กล่าวหาว่าโจทก์ลักทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจนโจทก์และจำเลยที่ ๒ ต่างถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาในความผิดที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวหาซึ่งกันและกัน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ปรองดองกันไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน จึง เป็นกรณีที่มีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ศาลย่อมพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนเลิกกัน(ฎีกาที่ ๑๘๒๐/๒๕๒๗), ก. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยมิได้นำรถยนต์ที่ ผู้เป็นหุ้นส่วนนำมาลงหุ้นไปจดทะเบียนโอนเป็นทรัพย์สินของจำเลย ปล่อยให้ซ่อมแซมรักษาและเก็บผลประโยชน์กันเอง จัดทำบัญชีค่าใช้จ่าย ของจำเลยว่ามีค่าซ่อมรถยนต์ค่าซื้ออะไหล่ ค่าน้ำมัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะจำเลยไม่มีรถยนต์เป็นของตนเอง เอาใบเสร็จค่าน้ำมันรถยนต์ ของตนมาลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายของจำเลย และใบเสร็จรับเงินถูกแก้ไขจำนวนเงินและราคาให้สูงกว่าความเป็นจริง ถือได้ว่า ก. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบส่อไปในทางทุจริต เป็นการละเมิดข้อบังคับของจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เลิกห้างจำเลยได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๕๗(๑) และ มาตรา ๑๐๘๐(ฎีกาที่ ๒๖๓๙/๒๕๒๕), ได้ความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดขาดทุนและมีทรัพย์สินเหลืออยู่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของห้างที่ต้องใช้จ่ายเป็นประจำการดำเนินการต่อไปมีแนวโน้มที่มีแต่จะขาดทุนพฤติการณ์ที่หุ้นส่วนไม่ปรองดองกันแสดงให้เห็นว่าไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ถือได้ว่าขาดสิ่งอันเป็นสารสำคัญของการเข้าเป็นหุ้นส่วน หากจะเปลี่ยนตัวหุ้นส่วนผู้จัดการ ก็ไม่มีทางที่จะทำได้เพราะห้างนี้มีเพียงจำเลยที่ ๑ คนเดียวเท่านั้นเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนอกจากนั้นบัญชีของห้างบางรายการลงไว้ไม่ถูกต้อง รายจ่ายก็ปรากฏว่าจ่ายโดยหละหลวมฟุ่มเฟือยเกินกว่าความจำเป็น การดำเนินการของห้างปราศจากการควบคุมที่ดี เหล่านี้เป็นเหตุให้ห้างเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ศาลย่อมพิพากษาให้ห้างดังกล่าวเลิกกัน(ฎีกาที่ ๑๓๓/๒๕๒๐)

8.         เมื่อไม่มีเหตุเลิกห้างตามมาตรา ๑๐๕๗ ต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๕๖; เมื่อมีเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดดำเนินกิจการ โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๑ ได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแต่อย่างใดไม่ และไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งของห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีกำหนดกาลอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติ ประสงค์จะเลิกห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีเหตุ จึงต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๕๖(ฎีกาที่ ๕๑๘๔/๒๕๕๐), การเลิกห้างหุ้นส่วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๕๖ เป็นการเลิกในระหว่างที่กิจการของห้างหุ้นส่วนยังดำเนินไปได้ตามปกติ กฎหมายจึงบัญญัติให้บอกกล่าวล่วงหน้าหกเดือน และให้เลิกได้ต่อเมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วน แต่ถ้ามีเหตุการณ์ที่เสียหายเกิดขึ้นระหว่างดำเนินการของห้างหุ้นส่วนเมื่อหุ้นส่วนคนใดร้องขอ ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเลิกกันได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๕๗ ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๐๕๖(ฎีกาที่ ๑๙๕๖/๒๕๑๗)

9.         เมื่อห้างเลิกกันแล้ว จะต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อน จะมาฟ้องขอให้คืนเงินลงทุนไม่ได้( มาตรา ๑๐๖๑ ); โจทก์จำเลยทำสัญญากันว่า จำเลยได้มอบที่ดินให้แก่โจทก์รับไปจัดการแบ่งเป็นแปลงแล้วนำออกจำหน่าย เมื่อจำหน่าย หมดแล้วให้หักค่าที่ดินและค่าใช้จ่ายของโจทก์ที่ได้จัดการดังกล่าว เหลือเท่าใดให้แบ่งเป็น ๓ ส่วน มอบให้โจทก์ ๒ ส่วน ให้จำเลย ๑ ส่วน ดังนี้ เป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๑๒ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าบุกเบิกจัดสรรที่ดินจากจำเลย จึงเป็นการเรียกร้องเงินค่าที่ได้ลงหุ้นไป เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้วจึงต้องปฏิบัติตามมาตรา ๑๐๖๑ คือต้องจัดการชำระบัญชีเสียก่อน โจทก์จะมาฟ้องขอคืนเงินที่ได้ลงหุ้นไปโดยยังไม่มีการชำระบัญชีหาได้ไม่ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง(ฎีกาที่ ๑๗๖๗/๒๕๒๙), เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเลิกกัน ต้องจัดให้มีการชำระบัญชีหรือตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๖๑ วรรคแรก เพื่อให้ทราบว่ากิจการมีกำไรหรือขาดทุน หุ้นส่วนแต่ละคนมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่าใดหรือจะต้องชดใช้ให้ห้างหุ้นส่วนเพียงใด แล้วจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินหรือทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนนั้นได้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งของห้างหุ้นส่วนสามัญที่เลิกกันนำคดีมาฟ้องเรียกเงินปันผล และเงินค่าหุ้นจากผู้จัดการมรดกของผู้ถือหุ้นอื่นที่วายขนม์ไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังมิได้มีการชำระบัญชีหรือตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันแต่อย่างใด นั้น เป็นการยังมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง(ฎีกาที่ ๕๐๔/๒๕๒๐)

10.      การเลิกห้างตามมาตรานี้ใช้บังคับกับการเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย(มาตรา ๑๐๘๐);  มีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่เมื่อบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้กล่าวถึงว่าหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิขอเลิกห้างฯ ได้หรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องการเลิกห้างฯ ของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับตามที่มาตรา ๑๐๘๐ บัญญัติไว้ และมีผลให้หุ้นส่วนคนใดอาจร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างฯ ตามมาตรา ๑๐๕๗ (๓) ได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ย่อมมีอำนาจฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ ๑ และจัดการชำระบัญชีได้(ฎีกาที่ ๗๓๔/๒๕๖๑)