การคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้

กรณีการคืนทรัพย์ที่มิใช่เงินจำนวนหนึ่ง ป.พ.พ.มาตรา ๔๑๓

              

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๔๑๓  เมื่อทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงินและบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ และมิต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย แต่ถ้าได้อะไรมาเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือบุบสลายเช่นนั้นก็ต้องให้ไปด้วย

               ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยทุจริต ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายนั้นเต็มภูมิ แม้กระทั่งการสูญหายหรือบุบสลายจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ ๓๐๗๒/๒๕๔๗ (ประชุมใหญ่) ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง ๑๕ ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๓๕ วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๓๕ วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ ๑๗ ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา ๔๑๒ และ ๔๑๓ โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา ๔๐๗ หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่

               ฎีกาที่ ๑๐๗๘/๒๕๕๓ ถ้อยคำที่จำเลยด่าโจทก์ว่า "อีแก่ไม่ยุติธรรม มึงทำให้ครอบครัวกูแตกแยก กูจะไม่อยู่กับมึงแล้ว" เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์ซึ่งเป็นอา จำเลยเรียกโจทก์ว่า อีแก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๓๑ () โจทก์ย่อมเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้

               ก่อนฟ้องคดีจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๗๕๔๖ พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้อื่น เมื่อถอนคืนการให้ จำเลยต้องส่งคืนทรัพย์สินแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โดยคืนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๑๓ วรรคหนึ่งและมาตรา ๕๓๔ (หมายเหตุ จำนองติดไปด้วย)

               ฎีกาที่ ๔๘๖๐/๒๕๓๗ จำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นของธนาคาร ก. แทนจำเลยจำนวน ๑,๐๐๐ หุ้น จำเลยชำระเงินค่าหุ้นให้แก่โจทก์แล้วแต่โจทก์ยังมิได้ส่งมอบใบหุ้นให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยได้สั่งให้โจทก์ขายหุ้นของธนาคาร ก. จำนวน ๒,๐๐๐ หุ้น โดยเป็นหุ้นที่จำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อไว้แทนจำนวน ๑,๐๐๐ หุ้นดังกล่าวรวมกับหุ้นที่จำเลยมีอยู่เดิม โจทก์ได้ขายให้จำเลยแล้วในราคาหุ้นละ ๓๐๓ บาท และโจทก์ได้จ่ายเงินค่าขายหุ้นดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้วในส่วนของหุ้นจำนวน ๑,๐๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๓๐๑,๑๘๒ บาท โดยหักค่าธรรมเนียมการขายไว้ ต่อมาโจทก์ได้ส่งมอบใบหุ้นของธนาคาร ก. ให้แก่จำเลยอีกจำนวน ๑,๐๐๐ หุ้น โดยสำคัญผิดว่าเป็นหุ้นที่จำเลยได้สั่งซื้อไว้และโจทก์ยังมิได้ส่งมอบใบหุ้นให้ จำเลยรับไว้แล้วจำเลยส่งมอบใบหุ้นจำนวนเดียวกันนี้คืนโจทก์ในวันเดียวกันโจทก์ก็รับไว้โดยเข้าใจว่าเป็นการส่งมอบใบหุ้นที่จำเลยได้สั่งขายในส่วนที่ยังค้างการส่งมอบและได้จ่ายเงินค่าขายหุ้นที่เหลือจำนวน ๓๐๑,๑๘๒ บาท ให้แก่จำเลยไป การที่จำเลยรับใบหุ้นจากโจทก์โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีหุ้นของจำเลยเหลืออยู่ที่โจทก์อีก จึงเป็นการรับไว้โดยไม่สุจริต จำเลยต้องคืนหุ้น ๑,๐๐๐ หุ้น ให้โจทก์เต็มจำนวน หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคา ๓๐๑,๑๘๒ บาท แก่โจทก์เท่าจำนวนราคาหุ้นที่จำเลยรับไปจากโจทก์มิใช่ราคา ๓๐๓,๐๐๐ บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง